1. สยามโซน
  2. ภาพยนตร์
  3. ข่าววงการภาพยนตร์

หลิวชิงอวิ๋น ควง กุ้ยหลุนเหม่ย คว้ารางวัล ม้าทองคำ ปี 2012

หลิวชิงอวิ๋น ควง กุ้ยหลุนเหม่ย คว้ารางวัล ม้าทองคำ ปี 2012

ผลประกาศรางวัล "โกลเดน ฮอร์ส อวอร์ดส์" (Golden Horse Awards) หรือ ม้าทองคำ ปีนี้สร้างความแปลกใจให้คนดูไม่น้อย เมื่อภาพยนตร์ทุนต่ำจากจีนแผ่นดินใหญ่เรื่อง "Beijing Blues" เป็นฝ่ายกวาดรางวัลสำคัญๆ ไปครองถึง 3 รางวัล เท่ากับคู่แข่งจากฮ่องกงอย่าง "Life without Principle" ของผู้กำกับ "ตู้ฉีเฟิง" ขณะที่ภาพยนตร์รักสามเส้าจากไต้หวัน "Gf*Bf" และ "Mystery" ของผู้กำกับ "โหลวเยี่ย" ที่เข้าชิงถึง 7 สาขา กลับพลิกโผได้มาเพียงเรื่องละ 2 รางวัลเท่านั้น โดยงานประกาศรางวัลออสการ์แห่งวงการภาพยนตร์ภาษาจีนครั้งที่ 49 นี้จัดขึ้นในค่ำวันที่ 24 พฤศจิกายน 2012 ที่ผ่านมา ณ เมืองอี้หลาน บนเกาะไต้หวัน และมีนักร้องสาวชาวไต้หวัน "เฉิงเป่าอี๋" รับหน้าที่พิธีกรคู่กับ "หวงปั๋ว" เจ้าของรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเมื่อปี 2009

Beijing Blues ของผู้กำกับ "เกาฉวินซู" เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับตำรวจนอกเครื่องแบบที่พบเห็นการดิ้นรนของแต่ละชีวิตในรูปแบบต่างๆ กันไป ซึ่งมีชื่อเข้าชิงทั้งหมด 5 สาขา ก่อนจะชนะรางวัลใหญ่ทางด้านเทคนิคการสร้างอย่างรางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยมและตัดต่อภาพยอดเยี่ยม และในที่สุดก็ถูกประกาศเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอย่างเหนือความคาดหมายของทั้งผู้ชมและตัวผู้กำกับเองด้วย "นี่เป็นอะไรที่ผมไม่คิดไม่ฝันมาก่อนเลยครับ ผมก็เป็นแค่ผู้กำกับมือใหม่ที่ทำหนังมาไม่กี่เรื่องแค่นั้น ผมไม่ได้หวังด้วยซ้ำว่าชื่อผมจะมามีส่วนเกี่ยวข้องกับม้าทองคำได้" เกาฉวินซู กล่าวอย่างตื่นเต้นขณะขึ้นรับรางวัล "ขอบคุณนะครับ ขอบคุณ"

ส่วน Life without Principle นั้นบอกเล่าเรื่องราวของพนักงานธนาคาร ตำรวจ และอันธพาลที่ต่อสู้กับความผิดชอบชั่วดี เมื่อมีเงิน 5 ล้านเหรียญฮ่องกงผ่านเข้ามาในมือตอนที่เศรษฐกิจกำลังล่มสลาย และภาพยนตร์ชีวิตผสมอาชญากรรมเรื่องนี้เองที่เป็นหนึ่งในคู่แข่งสุดหินของหลายๆ เรื่อง โดยการมีชื่อเข้าชิงรางวัลสำคัญมากถึง 6 สาขา ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ผู้ชมผิดหวัง เมื่อผู้กำกับรุ่นเก๋ามากฝีมือ ตู้ฉีเฟิง ก้าวขึ้นเวทีเพื่อรับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม ส่วนทีมเขียนบทภาพยนตร์ของเขาก็ได้รางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมไปเช่นกัน ขณะที่การแสดงของ "หลิวชิงอวิ๋น" ในบทอันธพาล แพนเธอร์ ก็ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมไปในที่สุด หลังเคยมีลุ้นมาแล้วครั้งหนึ่งแต่พลาดรางวัลไปอย่างน่าเสียดายเมื่อปี 1999

และถึงแม้รางวัลสูงสุดของงานจะตกเป็นของภาพยนตร์จากจีนและฮ่องกง แต่ Gf*Bf และ "Touch of the Light" ของฝั่งไต้หวันก็ถือว่าทำได้ดีไม่แพ้กัน "กุ้ยหลุนเหม่ย" นักแสดงสาวเจ้าของบทสาวห้าวจาก Gf*Bf สามารถสร้างความประทับใจให้แก่คณะกรรมการจนคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาครองเป็นครั้งแรก "นี่จะเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่สำหรับฉันค่ะ ฉันรักภาพยนตร์ และฉันก็จะแสดงต่อไปเรื่อยๆ เท่าที่จะทำได้" กุ้ยหลุนเหม่ย เผยความรู้สึกทั้งน้ำตา ซึ่งเรื่องราวความรักไม่ธรรมดาท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงใน Gf*Bf ยังเอาชนะใจผู้ชมจนขึ้นแท่นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากการเลือกของผู้ชมไปอีกหนึ่งรางวัลด้วย

ขณะที่การต่อสู้ของนักเปียโนตาบอดที่กินใจใครหลายๆ คนใน Touch of the Light ก็ทำให้ "จางหรงจี๋" เอาชนะเพื่อนร่วมชาติอีก 4 คนจนได้ตำแหน่งผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม และตัวภาพยนตร์ก็ได้รับเกียรติให้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากนักวิจารณ์อีกหนึ่งตำแหน่ง ส่วนนักแสดงนำของเรื่องอย่าง "หวงอวี้เสียง" ผู้เป็นนักเปียโนผู้พิการทางสายตาตัวจริงที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทั้งผู้สร้างภาพยนตร์และผู้ชม ก็ได้ก้าวขึ้นสู่เวทีม้าทองคำเพื่อรับรางวัลผู้สร้างภาพยนตร์ไต้หวันที่โดดเด่นแห่งปีไปครอง หลังกล่าวขอบคุณครอบครัวแล้ว เขายังทิ้งท้ายด้วยประโยคเด็ดจากภาพยนตร์ไว้ให้ผู้ชมได้คิดตามด้วยว่า "คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณสามารถไปได้ไกลแค่ไหน ถ้าคุณไม่ลองพยายามดูก่อน"

ผลรางวัล Golden Horse Awards ประจำปี 2012

  • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม: Beijing Blues
  • ผู้กำกับยอดเยี่ยม: ตู้ฉีเฟิง (To Kei-fung หรือ Johnnie To) จาก Life without Principle
  • ผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม: จางหรงจี๋ (Chang Rong-ji) จาก Touch of the Light
  • นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม: หลิวชิงอวิ๋น (Lau Ching Wan) จาก Life without Principle
  • นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม: กุ้ยหลุนเหม่ย (Gwei Lun-Mei) จาก Gf*Bf
  • นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม: เจิ้งจงจี (Cheng Chung-Kei หรือ Ronald Cheng) จาก Vulgaria
  • นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม: เหลียงจิ้ง (Liang Jing) จาก Design of Death
  • นักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม: ฉีซี (Qi Xi) จาก Mystery
  • บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม: มิลกีเวย์ ครีเอทีฟ ทีม (Milkyway Creative Team) โอวเจี้ยนเอ๋อร์ (Au Kin Yee) หวงจินฮุย (Wong King-Fai หรือ Ben Wong) จาก Life without Principle
  • บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม: เป้าจิงจิง (Bao Jingjing) จาก Love Is Not Blind
  • กำกับภาพยอดเยี่ยม: อูตี๋ (Wu Di) จาก Beijing Blues
  • ตัดต่อยอดเยี่ยม: หยางหงอวี่ (Yang Hongyu) จาก Beijing Blues
  • กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม: หลินมู่ (Lin Mu) จาก Design of Death
  • แต่งหน้าและแต่งกายยอดเยี่ยม: จางจิ่งฉุน (Cheung Sai-Kit หรือ Stanley Cheung) จาก The Bullet Vanishes
  • ออกแบบฉากต่อสู้ยอดเยี่ยม: เฉียนเจียเลอ (Chin Kar Lok) หวงเหว่ยฮุย (Wong Wai-Fai) อู๋ไห่ถัง (Ng Hoi -Tong) จาก Motorway
  • ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม: เพย์แมน ยัซดาเนียน (Peyman Yazdanian) โยฮันน์ โยฮันน์สัน (Johann Johannsson) จาก Mystery
  • เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม: DoReMi จาก Romancing in Thin Air แต่งดนตรีโดย หลัวท่าโย่ว (Lo Tayu) คำร้องโดย หลินซี (Lin Xi) ขับร้องโดย เจิ้งซิ่วเหวิน (Cheng Sau-Man หรือ Sammi Cheng)
  • วิชวลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยม: คิมอุก (Kim Wook) จงจื้อหาง (Chung Chi-Hang หรือ Frankie Chung) จอช โคล (Josh Cole) จาก Flying Swords of Dragon Gate
  • เทคนิคเสียงยอดเยี่ยม: เฉิงจิ่งเสียง หรือ (Tsang Kin-Cheung หรือ Kinson Tsang) หลีจื้อโสง (Lai Chi-Hung) จาก Nightfall
  • ภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม: The Home Gleaners
  • ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม: China Heavyweight
  • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากการเลือกของผู้ชม: Gf*Bf
  • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากนักวิจารณ์ (FIPRESCI Award): Touch of the Light จากไต้หวัน
  • ผู้สร้างภาพยนตร์ไต้หวันที่โดดเด่นแห่งปี: หวงอวี้เสียง (Huang Yu-Siang)
  • รางวัลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต: สือจวิ่น (Shih Chun)

ความคิดเห็น

ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ในอดีต

  • ลัดดาแลนด์
    เข้าฉายปี 2011
    แสดง สหรัถ สังคปรีชา, ปิยธิดา วรมุสิก, สุทัตตา อุดมศิลป์
  • 7 ประจัญบาน 2
    เข้าฉายปี 2005
    แสดง พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง, สามารถ พยัคฆ์อรุณ, ทศพล ศิริวิวัฒน์
  • Thor
    เข้าฉายปี 2011
    แสดง Chris Hemsworth, Anthony Hopkins, Natalie Portman

เกร็ดภาพยนตร์

  • The Wind Rises - ผู้กำกับและผู้เขียนบท ฮายาโอะ มิยาซากิ กล่าวว่าที่เขาเลือกภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันอำลาวงการเพราะเขาอยากเล่าเรื่องราวที่เป็นตัวแทนจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่น สิ่งที่เกิดขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจ แต่ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตชาวญี่ปุ่น และอยากให้ยอมรับสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นสร้างขึ้น อ่านต่อ»
  • Dawn of the Planet of the Apes - จูดี เกรียร์ ผู้รับบท คอร์เนเลีย มีสามีที่เป็นแฟนตัวยงของ Planet of the Apes (1968) จนแต่งเค้กงานแต่งของทั้งคู่ด้วยหุ่นสามีภรรยาลิงชิมแปนซี โดยในงานยังจัดฉายภาพยนตร์ดั้งเดิมและ Rise of the Planet of the Apes (2011) ในโทรทัศน์สองเครื่องบริเวณจุดบริการเครื่องดื่มในช่วงดื่มฉลองด้วย อ่านต่อ»
เกร็ดจากภาพยนตร์สามารถดูได้ในหน้าข้อมูลภาพยนตร์แต่ละเรื่อง

เปิดกรุภาพยนตร์

เรื่องราวของ เบิร์ด ฟิตเชอร์ (แคทรีน เพรสคอตต์) ที่ได้พบกับกล้องโพลารอยด์ตัวหนึ่งในร้านขายของเก่า แต่แล้วเธอกลับพบว่าผู...อ่านต่อ»